‘รองนายกฯ ประเสริฐ’  ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเชิงรุก 4 จังหวัดอีสานกลาง  ‘ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด’ เร่งรับมือ ‘น้ำท่วม-น้ำแล้ง-ฝนทิ้งช่วง’ พร้อมกำชับทุกหน่วยงานเร่งปรับปรุงแหล่งน้ำ – เก็บกักน้ำไว้ 

วันที่ 17 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 12 ณ จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม โดยในช่วงเช้านายประเสริฐ เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังรายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 12 (จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) รายงานปัญหาที่สำคัญของจังหวัด  และนายไวฑิต โอชวิช ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จากนั้นลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอำเภอโกสุมพิสัยและอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม 

.

นายประเสริฐ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อขอรับทราบปัญหาและความต้องการด้านน้ำจากผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่า ยังมีบางพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะประสบอุทกภัยหากมีปริมาณฝนที่ตกสะสมจำนวนมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร เขตชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจได้ อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่คาดว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ อาจเกิดฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำเป็นต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากสภาวะฝนทิ้งช่วงด้วย จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งดำเนินการ ดังนี้ 

.

1.ให้ สทนช. ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่เปราะบางที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและฝนทิ้งช่วง ตามที่ สทนช. คาดการณ์ว่าทั้ง 4 จังหวัด ในเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม จะมีพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ในช่วงเดือนกันยายน คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงสูงสุดถึง 24 อำเภอ 142 ตำบล ซึ่งต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบและรัดกุม พร้อมเน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า และเมื่อเกิดเหตุจะต้องเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

.

2.ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบริหารจัดการน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเพียงพอกับความต้องการ และให้ความสำคัญกับการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก และ

.

3.ให้จังหวัด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำ บ่อบาดาล รวมถึงระบบประปาหมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบให้พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใน 4 จังหวัดเกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ และจัดทำรายละเอียดเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลโดยเร็ว

.

#พรรคเพื่อไทย