“นายกฯ” ผลักดัน “สุขภาพจิตที่ดี “เป็นวาระแห่งชาติยกเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ พร้อมเตรียมตั้ง ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต 340 แห่งทั่วประเทศ ภายในปีนี้
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “เดือนแห่งสุขภาพใจ – Mind Month”
.
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประเมินผ่านระบบ Mental Health Check in ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึงปัจจุบันพบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า ความเครียดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญ จึงต้องการสร้างความตระหนักให้กับประชาชน จึงประกาศให้เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ
.
งานนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพจิต ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ และลดการตีตราเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช โดยผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารหน่วยงานราชการ ตลอดจนภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิต จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 300 คน
.
โดยนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “สุขภาพใจ เป็นเรื่องของทุกคน” ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย 2) ระบบ HERO ซึ่งเป็นการคัดกรองสุขภาพจิตในโรงเรียน 3) ระบบ Holistic health advisor เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแบบองค์รวม 4) ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต ช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านจิตใจแบบ online และ onsite 5) โปรแกรมต่อเติมใจ เพื่อลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นของผู้มีความเสี่ยง โดยเฉพาะวัยทำงานและผู้สูงวัย 6) สุขภาพจิต.com เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตและการประเมินตนเองเบื้องต้น ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนถึงความพยายามของภาครัฐในการดูแลปัญหาสุขภาพของคนไทย ครอบคลุมทุกช่วงวัย
.
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานกล่าวเปิดงานเดือนแห่งสุขภาพใจ “Mind Month” โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
.
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัญหาสุขภาพทางใจเป็นปัญหาที่สำคัญที่ถูกมองข้าม เพราะแม้มีร่างกายที่สมบูรณ์ แต่หากสุขภาพใจไม่แข็งแรง การทำเรื่องต่าง ๆ ให้สำเร็จย่อมเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเปิดใจรับฟัง โดยไม่รีบตัดสิน เป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นการเสริมความเข้าใจและสร้างความเข็มแข็งทางใจให้กับผู้มีความเสี่ยง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจทางอารมณ์ให้กับเด็กและเป็นเกราะป้องกันสร้างความเข้มแข็งให้เด็กต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการเห็นและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมขอใช้โอกาสนี้ แสดงพลังและความตั้งใจร่วมกันในการสร้างสังคมที่เห็นความสำคัญของสุขภาพใจอย่างแท้จริง เนื่องจาก“จะไม่มีสุขภาพที่สมบูรณ์ได้ หากปราศจากสุขภาพจิตที่ดี” โดยรัฐบาลต้องการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนว่า สุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุจึงได้กำหนดให้สุขภาพจิตเป็นวาระสำคัญระดับชาติ
.
โดยรัฐบาลจะเดินหน้าเสริมสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ไปจนถึงระบบสาธารณสุข โดยเน้นทั้งการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษา และฟื้นฟู ซึ่งจะเห็นได้จาก 6 นโยบายสำคัญด้านสุขภาพจิตที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม และในปีนี้จะครอบคลุมคนไทยในทุกช่วงวัยมากกว่า 13.5 ล้านคน โดยเฉพาะนโยบายสำคัญอย่างการจัดตั้ง“ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต (Mental health counseling center)” จำนวน 37 แห่งภายในเดือนพฤษภาคม และขยายเป็น 340 แห่งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนกว่า 1 ล้านคน ได้รับการปรึกษาและดูแลก่อนที่จะเจ็บป่วยทางใจ
.
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อีกกว่า 50 กิจกรรม ที่จะเริ่มต้นในเดือนแห่งสุขภาพใจนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างถ้วนหน้า กระตุ้นสังคมไทยให้หันมาใส่ใจพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะ “สุขภาพจิตดี” ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่คือภารกิจของทุกคน ในฐานะสมาชิกของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
.
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของจิตใจที่เข้มแข็ง คือ “ครอบครัว” ครอบครัวที่เปิดใจรับฟัง ให้พื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ สนับสนุนกันและกันในวันที่อ่อนล้า คือรากฐานสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมคนไทยให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และมีภูมิคุ้มกันทางใจที่แข็งแรง
.
นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจคนรอบข้าง รับฟังอย่างเข้าใจ หรือแม้แต่การเริ่มดูแลใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และขอให้เดือนแห่งสุขภาพใจนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไทยที่ “เข้าใจ เห็นคุณค่า และพร้อมเดินไปด้วยกันอย่างมีความสุข” นายจิรายุ กล่าว
.
ภายหลังจากการกล่าวเปิดงาน นายกรัฐมนตรียังได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา “สุขภาพใจเริ่มต้นได้ที่ครอบครัว” กับตัวแทนครอบครัวจากหลากหลายอาชีพ กว่า 30 ครอบครัว พร้อมตอบคำถามและให้คำแนะนำกับตัวแทนครอบครัวในมุมมองการถูกสังคมกดดันและความคาดหวังในการเลี้ยงลูกให้สมบูรณ์แบบ และมุมมองความรัก LGBTQ+ ที่สังคมบางกลุ่มยังไม่ยอมรับ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าความรักความเข้าใจในครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด พื้นฐานของครอบครัวที่เข้มแข็ง การรับฟัง และเป็นที่พึ่งให้กันและกัน สำคัญกว่ามุมมองจากภายนอก โดยนายกรัฐมนตรีมองว่า ความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่เรื่องแปลก ความรักเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ความรัก กำลังใจภายในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญและจะเป็นเกราะป้องกันในอนาคตให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดีที่สุด
#mindmonth #พรรคเพื่อไทย
บทความที่เกี่ยวข้อง
