‘ฉลาด ขามช่วง’ ประธาน กมธ. ป.ป.ช. เผยเรียก ‘ผู้ว่า สตง.’ แจงสร้างสำนักงานใหม่ถล่มจนมีผู้เสียชีวิต-สูญหาย ซักละเอียดกว่า 4 ชั่วโมง ทั้งการออกแบบ-จัดซื้อจัดจ้าง-ควบคุมงาน ย้ำ สส.จะทำหน้าตรวจสอบเพื่อประโยชน์ประชาชน

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายฉลาด ขามช่วง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ได้เรียก นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าชี้แจงกรณีอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ที่ถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหว

.

ก่อนการประชุม นายฉลาด ให้สัมภาษณ์ว่า “คณะกรรมาธิการไม่ต้องการปรักปรำใคร เราแค่ต้องการหาข้อเท็จจริงให้ประชาชน เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าอะไรเกิดขึ้น ทำไมเกิดขึ้น และใครต้องรับผิดชอบ ในฐานะองค์กรผู้ตรวจสอบคนอื่น ก็ต้องย้อนถามตัวเองด้วยเช่นกันว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน”

.

การประชุมเริ่มตั้งแต่เช้า ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ภายในที่ประชุม นายมณเฑียร ได้ชี้แจงถึงที่มาของโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ ว่าเป็นโครงการมูลค่า 2,100 ล้านบาท ใช้วิธีจัดจ้างบริษัทออกแบบและก่อสร้างในคราวเดียวกัน (Design and Build) ภายใต้การกำกับของผู้ควบคุมงานจากบริษัท PKW จ่ายเงินไปแล้ว 22 งวด รวมกว่า 966 ล้านบาท

.

ประเด็นคำถาม-ข้อสังเกตของ “กมธ.ป.ป.ช.” มี 3 ข้อคือ 

.

– 1. กระบวนการออกแบบ-จัดซื้อจัดจ้าง

.

มีการตั้งคำถามว่าเหตุใด สตง. ไม่เลือกการประมูลแบบก่อสร้างตามมาตรา 83 พ.ร.บ.ประกวดราคา แต่กลับเลือกวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่ง ผู้ว่าฯ สตง. ชี้แจงว่าอาคารมีความซับซ้อนสูง ต้องการแบบเฉพาะ และมีกฎกระทรวงอนุญาต

.

– 2. ปัญหาบริษัทรับเหมา

.

ด้าน กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่า ว่าบริษัทแม่ของผู้รับเหมาถูกธนาคารโลกสั่งแบนตั้งแต่ปี 2562 หลังเกิดเหตุสะพานถล่มในชิลี แต่ในปี 2563 ยังได้สัญญาก่อสร้างอาคารนี้ ซึ่งด้านผู้ว่า สตง. อธิบายว่า เป็นการประมูลที่ดำเนินการตามกฎหมายไทย ไม่ได้รับผลกระทบจากการแบนนอกประเทศ

.

– 3. การควบคุมงานและแก้ไขแบบ

.

กมธ. พบว่าเอกสารระบุชื่อวิศวกรควบคุมงาน แต่เจ้าตัวไม่เคยไปควบคุมงานจริง และมีการแก้ไขแบบถึง 9 ครั้ง โดยไม่ชี้แจงต่อผู้ว่าฯ ซึ่งนายมณเฑียรตอบว่า เป็นการแก้ไขแบบเป็นดุลยพินิจของผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงาน เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสม

.

ภายหลังการประชุม นายฉลาด ขามช่วง ประธาน กมธ. และ สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า “นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบ เรายังมีข้อมูลอีกมากที่ต้องขอเพิ่ม…ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราจะทำให้สังคมรู้ว่ากระบวนการตรวจสอบภายในหน่วยงานสูงสุดด้านการตรวจเงินแผ่นดินโปร่งใสจริงหรือไม่”

.

ฉลาด ขามช่วง ได้ย้ำว่าคณะกรรมาธิการจะเดินหน้าตรวจสอบต่อใน 3 ประเด็นหลักคือ 

.

– กระบวนการเลือกบริษัทรับเหมา

– เหตุผลของการแก้ไขแบบและการลดมาตรฐาน

– ความรับผิดชอบของวิศวกรควบคุมงานและผู้บริหารโครงการ

.

“นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่คือการหาความจริง เพื่อคืนความเชื่อมั่นให้ประชาชน” ฉลาด กล่าวทิ้งท้าย

.

คณะกรรมาธิการฯ ในครั้งนี้ทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้ตรวจสอบผู้ตรวจสอบ” เพื่อตรวจสอบ สตง. ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบสูงสุดของประเทศ โดยเน้นการตรวจสอบ การจัดซื้อจัดจ้าง, การออกแบบ, และการควบคุมงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเน้นย้ำว่าการทำงานครั้งนี้ “ไม่มุ่งทำไปเล่นงานใคร แต่หาความจริงให้ประชาชน”

.

ขอขอบคุณภาพจาก https://mgronline.com/politics/detail/9680000040405

#พรรคเพื่อไทย