วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับที่ … พ.ศ. …. (ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ) ซึ่งก่อนหน้านี้นายจาตุรนต์เป็นผู้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎร นำร่างฉบับนี้กลับเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาแสดงความเห็นต่างจากสภาผู้แทนราษฎร และยับยั้งร่างมาครบ 180 วันแล้ว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองแทบทุกพรรคใช้ในการหาเสียง หากแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 (ฉบับปัจจุบัน) เป็นอุปสรรคในการแก้รัฐธรรมนูญเนื่องจาก ใช้กติการะบบเสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority) จึงมีการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจากทั้ง คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
.
โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไขกติกาการออกเสียงประชามติให้เป็นระบบเสียงข้างมากธรรมดา (Simple Majority) ระบุว่า “มาตรา 13 การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ใช้เสียงข้างมากของ ผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”
.
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ข้อสรุปนี้ไม่ได้ทำให้การทำประชามติผ่านไปโดยง่ายเป็นพิเศษ แต่กลับเป็นกติกาที่สร้างความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ครั้งคือเมื่อปี 2550 และปี 2560 กำหนดไว้ว่าให้ใช้เสียงข้างมากเป็นอันผ่านประชามติ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไปทำประชามติ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า จะต้องไปทำประชามติโดยมีเสียงข้างมากกี่ชั้น เมื่อไม่ได้กำหนดเช่นนี้ ทำให้สิ่งที่ควรจะเป็นหลักการคือ ต้องย้อนไปดูว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแม่คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ตอนทำประชามติใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ก็ไม่ควรใช้ หลักเกณฑ์ที่ต่างกัน ทั้งไม่ควรทำให้ง่ายหรือยากขึ้น
.
“กติกานี้มีผลเท่ากับว่าคนไม่มาออกเสียงและคนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นฝ่ายเดียวกัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญก็อาจไประดมคนให้นอนอยู่บ้านเพื่อได้คะแนนไปรวมกับผู้ไม่ออกเสียง จนอาจทำให้ การทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญครั้งนั้นมีผู้มาออกเสียงน้อยมาก และท้ายที่สุดแม้การลงประชามติเห็นด้วยกับการแก้ รัฐธรรมนูญจะมีคะแนนเสียงท้วมท้น แต่ก็ต้องตกไปเพราะกติกาที่มีปัญหานี้” นายจาตุรนต์ กล่าว
.
ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเห็นชอบ แต่ในชั้นของ สว. ลงมติไม่เห็นชอบ และส่งกลับคืนมาให้ สภาผู้แทนฯ พิจารณา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่เห็นชอบ” กับร่างดังกล่าวของวุฒิสภาในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 จนนำไปสู่การตั้ง คณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสองสภาเพื่อพิจารณากฎหมายนี้อีกครั้ง แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากได้ยืนยันเนื้อหา ตามที่วุฒิสภาได้แก้ไขไว้ และได้ส่งร่างกลับมาให้แต่ละสภาพิจารณาอีกครั้ง
.
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แม้วุฒิสภาจะมีมติเห็นชอบร่างดังกล่าว แต่สภาผู้แทนราษฎรเราได้ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ต้องยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้ก่อน ถ้าพูดกันให้เข้าใจได้ง่าย ๆ เนื่องจากหากเห็นชอบไปตามร่างของคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสองสภา ก็เท่ากับเป็นการปิดประตูการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเป็นปัญหาใหญ่หลวงมากสำหรับประเทศไทย
.
“ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ต้องยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสียก่อน บัดนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ยับยั้งไว้ 180 วัน โดยพ้นระยะดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว ผมจึงขอให้สภาผู้แทนราษฎรยกร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ขึ้นพิจารณาใหม่อีกครั้ง และลงมติยืนยันร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบแล้วตามมาตรา 138 (2) ของรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกกติกาออกเสียงประชามติให้เป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว เดินหน้าสู้การแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็วครับ” นายจาตุรนต์ กล่าว
.
#พรรคเพื่อไทย #ประชามติ #แก้ไขรัฐธรรมนูญ

บทความที่เกี่ยวข้อง
