‘ชูศักดิ์’ ยันรัฐบาลมีความตั้งใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ รอความชัดเจนคำวินิจฉัยศาลฯ อย่างน้อยอยากให้ตั้ง ‘ส.ส.ร.’ ไว้ก่อน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสด ของนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ต่อประเด็นความชัดเจนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า เหตุผลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะขณะนี้มีความไม่แน่นอน ต่อประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อจำนวนครั้งของการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาส่วนของพยานผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นเมื่อมีความไม่แน่นอน ตนจึงเสนอ ครม.ว่ายังไม่ควรเสนอร่างแก้ไขฉบับของ ครม. เพราะหากเสนอไปแล้ว ทำไม่ได้ ครม. จะเสียหาย แต่ขณะนี้มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในระเบียบวาระรัฐสภา โดยพรรคการเมือง รวม 2 ฉบับ คือ ฉบับของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน
.
นายชูศักดิ์ ชี้แจงต่อว่าสำหรับนโยบายของรัฐบาลมีความแน่วแน่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่าง อาทิ การถ่วงดุลอำนาจ ที่มาของสว. แต่การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั้นยังมีเงื่อนไขที่ต้องรอ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องรอ เพราะหากมีคำวินิจฉัยว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้ง ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่ทั้ง 2 ฉบับ สามารถเดินต่อไป แต่ตนยังหวั่นวิตก ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จัดอยู่ในประเภทที่ไม่อยากให้แก้ไขได้ เช่น วาระแรก ต้องใช้เสียง สว. เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ของ สว.ที่มี หากปัจจุบันมี สว. 200 คน ต้องได้เสียงสว. 67 คน ดังนั้นหากถึงเวลานั้นต้องขอให้ สว. ช่วยกันลงเสียงให้ แต่ตนยังหวั่นวิตกว่า สุดท้ายอาจจะตกไปอีกก็ได้
.
“หากไม่สนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง และใช้มติครม. เลย ผมมองว่าเมื่อได้ถามศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ควรรอคำตอบก่อน แต่หากตัดสินใจเลย ทำกับว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่เบาเหมือนกัน” นายชูศักดิ์ชี้แจง
.
นายชูศักดิ์ ชี้แจงต่อว่าในความตั้งใจของรัฐบาล หากพูดตรงไปตรงมา คือ ไม่อยากให้ไม่สำเร็จ เหมือนที่เคยทำมาที่ท้ายสุดจะผ่านวาระสามแล้ว แต่มีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จนเป็นที่มาของคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ดังนั้นหากอยากทำให้สำเร็จ ต้องตัดอุปสรรคที่ไม่มั่นใจ และต้องทำให้แน่ใจถึงจะเดินไปได้
.
นายชูศักดิ์ ชี้แจงต่อว่า รัฐบาลบริหารมาแล้ว 2 ปี เหลือเวลาไม่นานจะครบ 4 ปีตามมวาระของรัฐบาล เมื่อคำนวณไทม์ไลน์ การแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า6 เดือน เสร็จแล้วต้องถามประชามติ ซึ่งต้องมีเวลา 3-5 เดือน เพื่อทำความเข้าใจประชาชน หลังจากประชามติเสร็จแล้ว ต้องเข้าสู่การเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยคาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน
.
“ดูไทม์ไลน์แล้วยากลำบากจะทำให้สำเร็จในเวลานี้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ แต่ผมได้ปวารณาตัว่า หากมีข้อยุติในหลายประเด็นแล้วและเดินหน้าต่อไป ขอให้ตั้ง สสร. ไว้ และให้ทำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลกำหนดวาระ อย่างน้อยมี สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญไปได้ หากทำถึงขนาดนี้ได้ แม้อาจไม่สำเร็จ แต่เป็นการดี ซึ่งตามไทม์ไลน์อาจมีปัญหาที่ทำให้สำเร็จไม่บริบูรณ์ 100%” นายชูศักดิ์กล่าว
.
#พรรคเพื่อไทย #ชูศักดิ์ศิรินิล #แก้รัฐธรรมนูญ

บทความที่เกี่ยวข้อง
