มติสภาฯ ท่วมท้น ยืนยันแก้เกณฑ์ประชามติเสียงข้างมากชั้นเดียว เปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อไทยยันเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณา ญัตติขอให้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ซึ่งถูกยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 (3) ของรัฐธรรมนูญ ขึ้นพิจารณาใหม่ จำนวน 2 ฉบับ ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และนายจาตุรนณ์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ โดยมี สส.พรรคเพื่อไทยร่วมอภิปราย
.
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เคยผ่านการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 3 มาแล้ว เมื่อปี 2567 แต่เมื่อเข้าวุฒิสภามีการพิจารณาให้ย้อนกลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามเดิม ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา จนเมื่อปลายปี 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีการลงมติไม่เห็นชอบ มติของคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ทำให้ร่างกฎหมายนี้ถูกยับยั้งไว้ 180 วัน และเมื่อครบกำหนดสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการยืนยันร่างกฎหมายโดยไม่ต้องมีการปรับแก้
.
นางสาวขัตติยากล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือเป้าหมายสำคัญทางการเมืองของไทยในห้วงเวลานี้ ขอย้ำว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะพาไปถึงเป้าหมาย ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยในฐานนะแกนนำรัฐบาล ได้ยึดมั่นที่ได้สัญญากับพี่น้องประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เราตระหนักถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้าง ยังมีกฎหมายหลายฉบับขัดขวางอยู่ โดยเฉพาะกฎหมายประชามติที่มีการวางเงื่อนไขไว้สลับซับซ้อน หนึ่งในเงื่อนไขนั้นคือ หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
เหตุผลที่ต้องมีการปรับแก้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว
.
-ประการแรกเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะเปิดช่องให้กับกลุ่มที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เป็นกลยุทธ์จูงใจไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ
.
-ประการที่สอง เราควรให้น้ำหนักกับเสียงกับผู้ออกมาใช้สิทธิเพื่อกำหนดทิศทางของบ้านเมือง เราไม่ควรเอาเสียงของผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ หรือคนนอนหลับทับสิทธิ มามีผลต่อการลงประชามติ เพราะจะเกิดการตีความว่าความเงียบเท่ากับไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นการบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิที่เหลือทั้งหมด
.
-ประการที่สาม ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ก็ผ่านการลงประชามติเสียงข้างมากชั้นเดียว แล้วเหตุใดการแก้ไข ยกเลิก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น
.
“ร่างกฎหมายประชามติควรถูกมองว่า เป็นเครื่องมือของประชาธิปไตยทางตรงที่สำคัญที่สุด ในยามที่ประเทศกำลังเผชิญความขัดแย้งในประเด็นที่สำคัญ ประชามติคือกลไกที่ให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมกันตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยให้คนบางกลุ่มบางฝ่ายมาชี้ขาดอนาคตของบ้านเมือง หากการทำประชามติยังอยู่ภายใต้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เครื่องมือนี้จะไร้เสถียรภาพ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้จริง ในห้วงเวลาที่ประเทศต้องการคำตอบจากประชาชนมากที่สุด” นางสาวขัตติยากล่าว
.
ด้าน นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี อภิปรายว่า เราเสียเวลาเสียโอกาสกับกฎหมายฉบับนี้เกือบ 2 ปี โดนประชาชนว่ากล่าวมาโดยตลอด ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยืนยันมาตลอดจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตย การแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 การใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว คือเจตนารมย์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ และเป็นความต้องการของประชาชน
.
“รัฐธรรมนูญ 2560 มาจากคณะรัฐประหาร มันเป็นต้นเหตุปัญหาของการเมืองไทยทุกวันนี้ มีการทะเลาะเบาะแว้ง การร้องเรียน การตีความ เพื่อที่จะมาทำลายพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย ขอให้ทุกท่านเห็นอกเห็นใจประชาชน เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่ามันจะแก้ไขยากเย็นแสนเข็ญ เราก็ต้องทำ” นายธีระชัยกล่าว
.
ด้าน รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวอย่างให้เป็นว่า เราเป็นประชาธิปไตยแบบสากล มีการพัฒนาบ้านเมืองได้เจริญรุ่งเรือง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่ครบวาระ แก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างดี มีการปฏิรูปทุกอย่าง จนประชาชนเห็นว่าประชาธิปไตยกินได้ จนเกิดการรัฐประหารขึ้น เป็นปัญหาการเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้
.
“พรรคเพื่อไทยมีการหาเสียงมาตลอดว่า เราจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆก็ไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่าเป็นฉบับปราบโกง ปรากฏว่ามีการโกงกันเยอะมาก สภาเรายืนยันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยตั้ง สสร. วุฒิสภาก็ไม่เห็นด้วย ต้องเสียเวลาไป 180 วัน หลายคนกล่าวหาพรรคเพื่อไทยว่าอู้ ผมชอบคำพูดที่ว่า ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเราต้องอดทน เราต้องช่วยกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ” รศ.นพ.เชิดชัยกล่าว
.
ผลการลงมติปรากฏว่า สส.ลงมติเห็นด้วย 375 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน งดออกเสียง 80 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน เมื่อที่ประชุมยืนยันร่าง พ.ร.บ. ด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (248 เสียงขึ้นไป) ถือว่าสภาฯ ยืนยันเนื้อหา และจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป
.
#พรรคเพื่อไทย #ขัตติยาสวัสดิผล #ธีระชัยแสนแก้ว #เชิดชัยตันติศิรินทร์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ



บทความที่เกี่ยวข้อง
