ไทย–อินเดีย ประกาศยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ กระชับความร่วมมือ
ผลักดันเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พัฒนาความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค
วันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายนเรนทร โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
.
นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีอินเดียได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีอินเดียไปยังห้องสีม่วงเพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี และไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน หลังจากนั้น เวลา 15.45 น. นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์ จากนั้นเวลา 17.10 น. นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามปฏิญญาและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและอินเดีย จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้
.
1) ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-อินเดีย
2) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศอินเดีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
3) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงท่าเรือ การขนส่ง และเส้นทางน้ำ ของอินเดีย และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ว่าด้วยการพัฒนาโครงการศูนย์มรดกทางทะเลแห่งชาติ เมืองโลธาล รัฐคุชราต .
.
4) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท National Small Industries Corporation Ltd. (NSIC) แห่งอินเดีย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
5) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยความร่วมมือด้านหัตถกรรมและการพัฒนาชุมชนช่างฝีมือ
6) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท North Eastern Handicrafts & Handlooms Development Corporation Ltd (NEHHDC) ของอินเดีย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
.
จากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียร่วมพิธีมอบพระไตรปิฏกสากล ฉบับสัชฌายะ พร้อมแถลงข่าวร่วมกัน
.
นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามรัฐบาลและประชาชนไทย ยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียและคณะ ในโอกาสเดินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งก้าวสำคัญนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและมีพลวัตระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโต ความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศและของภูมิภาค รวมทั้งสองฝ่ายยังเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกความเข้าใจจำนวนหลายฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนา การศึกษา และวัฒนธรรม สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
.
ผู้นำทั้งสองยังได้ตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การซ้อมรบร่วม และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือกับภัยคุกคามทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่
.
ในด้านเศรษฐกิจ อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเมื่อปี 2567 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้ร่วมกันเจรจาปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดียให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุนระหว่างกัน
.
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยและอินเดียแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสองประเทศในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาโดยเร่งด่วนแล้ว และในระยะต่อไป ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างยั่งยืนต่อไป
.
ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงการพัฒนาเส้นทางพุทธศาสนา (Buddhist Circuit) ให้ขยายครอบคลุมถึงรัฐสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะรัฐคุชราต ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสถานที่สำคัญกับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในบิมสเทค ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวระหว่างไทยและอินเดียมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้สนับสนุนการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินและการเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังเมืองน่าเที่ยวของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ไทยและอินเดียยังเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกการหารือระหว่างกรมการกงสุล เพื่อการคุ้มครองดูแลคนชาติของกันและกันด้วย
.
ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเวทีพหุภาคีต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงบิมสเทค อาเซียน BRICS และ OECD โดยประเทศไทยพร้อมทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นสมาชิกทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
.
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนไทยในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียและการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อินเดียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะปูรากฐานความร่วมมืออันลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างกันต่อไป
.
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาระหว่างอินเดียและไทย โดยเฉพาะอิทธิพลของพุทธศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี และความมั่นคง โดยอินเดียได้ให้บริการ Free Visa แก่ชาวไทยและร่วมมือกับไทยในประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งทั้งสองประเทศยังยืนยันจุดยืนร่วมกันต่อเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม และยึดหลักกฎหมาย ทั้งนี้ อินเดียพร้อมเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานได้ผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคอย่างแข็งขัน
#พรรคเพื่อไทย #อินเดีย #BIMSTEC
บทความที่เกี่ยวข้อง

‘ปลดล็อก’ วันนี้ ตามข้อเสนอของคกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ให้สนับสนุนส่งเสริมปีเที่ยวไทย ให้ขายได้บางพื้นที่ ใน 5 วันหยุดพิเศษ เน้น 5 กลุ่มที่นักท่องเที่ยวใช้บริการอาทิ โรงแรม สนามบินอินเตอร์ สถานบริการ แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว
อ่านต่อ