รัฐบาลขยายเวลา ‘คุณสู้เราช่วย’ ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย-SMEs ต่อเนื่องลงทะเบียนได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
รัฐบาลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567
.
ล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2568 มีผู้ลงทะเบียนแล้วรวม 1.6 ล้านบัญชี จากลูกหนี้ 1.3 ล้านราย โดยจากการตรวจสอบคุณสมบัติเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2568 พบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 530,000 ราย หรือร้อยละ 27 ของกลุ่มลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติรวม 1.9 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้รวม 385,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 43 ของยอดหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 890,000 ล้านบาท
.
ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ส่งผลให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังประสบปัญหาการชำระหนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธปท. และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาลงทะเบียนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2568 ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 23.59 น.
.
รัฐบาลยืนยันความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังเผชิญปัญหาทางการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 23.59 น. ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo หรือที่สาขาสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ BOT Contact Center โทร 1213
.
นอกจากนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 68 พิจารณาปรับเกณฑ์เงื่อนไขโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไขมาตรการจ่าย ปิด จบ ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (NPL) แต่มียอดหนี้คงค้างไม่สูง ไม่เกิน 5 พันบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที โดยเบื้องต้นจะมีการปรับเพิ่มวงเงินหนี้คงค้างเป็น 1-3 หมื่นบาทต่อบัญชี เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น
.
นอกจากนี้ จะมาดูแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ NPL ในส่วนที่มูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็นลูกหนี้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ราว 4 แสนกว่าราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว 6.7 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้คงค้างนานมาก ก็จะเอามาพิจารณาเงื่อนไขเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ วงเงินรวมราว 1 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะต้องไปหารือว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
.
ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มนอนแบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด วงเงินรวมราว 7-8 หมื่นล้านบาท ยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นจะต้องหารือรายละเอียดกับนอนแบงก์แต่ละแห่ง โดยต้องมีการแยกประเภทลูกหนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขต่อไป
.
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่หนี้มีมากกว่า 1 แสนบาท ซึ่งมีราว 2 ล้านคน โดยพบว่ามีราว 5 แสนราย ที่มีหนี้มากกว่า 1 ล้านบาทก็ต้องไปหารือกับสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วเยหลือที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมองว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ส่วนการซื้อหนี้ไม่เหมาะที่จะดำเนินการกับลูกหนี้กลุ่มนี้
.
#พรรคเพื่อไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

‘ปลดล็อก’ วันนี้ ตามข้อเสนอของคกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ให้สนับสนุนส่งเสริมปีเที่ยวไทย ให้ขายได้บางพื้นที่ ใน 5 วันหยุดพิเศษ เน้น 5 กลุ่มที่นักท่องเที่ยวใช้บริการอาทิ โรงแรม สนามบินอินเตอร์ สถานบริการ แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว
อ่านต่อ