🎯“ดีลที่ดีที่สุด” ไม่ใช่ “เรทต่ำที่สุด” เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่าน เวที ‘ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย: สู้วิกฤติโลก Unlocking Thailand Future’ ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวไทย (MCOT)
ในการเจรจาครั้งนี้ ไทยต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงเรทภาษีต่ำสุดเหมือนเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย เพราะการเปิดตลาดเกินสมควรอาจทำให้สินค้าแข่งขันเข้ามากระทบผู้ผลิตในประเทศ
“ผู้ชนะไม่ใช่คนที่ได้เรทที่ต่ำที่สุด แต่คือคนที่ได้ดีลที่ดีที่สุด ซึ่งหมายถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดให้ประเทศโดยรวม” เผ่าภูมิกล่าว
ทั้งนี้ ไทยกำลังเจรจาขอลดอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากระดับ 36% ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ปิดโอกาสยื่นข้อเสนอเปิดตลาดบางส่วน เช่น การลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ในบางรายการสินค้า แต่จะต้องรักษาสินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศไว้ แม้ว่าภาคการส่งออกจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า แต่รัฐบาลต้องดูแลทั้งประเทศ
“มีความเป็นไปได้ที่เราจะไม่เปิดทั้งหมด 100% เหมือนที่เวียดนาม และอินโดนีเซียทำ เพราะเราก็ต้องปกป้องผู้ผลิตในประเทศด้วย ถ้าเราเปิดอะไรที่มากเกินสมควรก็จะทำให้มีสินค้าเข้ามาแข่ง และกระทบกับผู้ผลิตสินค้าในประเทศ” เผ่าภูมิกล่า
🎯เวียดนามไม่ได้ได้เปรียบทั้งหมด ไทยมีโครงสร้างดีกว่า
เผ่าภูมิ อธิบายว่า ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่าเวียดนามได้เปรียบกว่าไทยเพราะเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ แค่ 20% แต่ในความเป็นจริง เวียดนามมี 2 เรท คือ 20% และ 40% โดยแยกตามสัดส่วน Regional Value Content (RVC) หรือสัดส่วนการผลิตในประเทศและภูมิภาค
โดยสินค้าที่มี RVC สูง จะเสียภาษี 20% แต่ถ้า RVC ต่ำ จะเสียภาษี 40% ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ของเวียดนามอยู่ในกลุ่มหลัง เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมยังไม่ลึก และมีการนำเข้าสินค้ามาเพิ่มมูลค่าในประเทศก่อนส่งออก ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยโตเต็มที่และมีห่วงโซ่อุปทานลึกกว่า ไทยจึงมีโอกาสได้เปรียบหากเจรจาในเงื่อนไขเดียวกัน
🎯เตรียมมาตรการรับมือผลกระทบและยกระดับเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ทั้งในฝั่งผู้ส่งออก ซัพพลายเชน และแรงงานในภาคส่งออก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศที่เผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่
- มาตรการทางการเงิน: จัดสรรวงเงิน Soft Loan 200,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัวและหาตลาดส่งออกใหม่ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้
- มาตรการทางการคลัง: อนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท (ผ่าน ครม. แล้ว 115,000 ล้านบาท) ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก เช่น คมนาคม ระบบชลประทาน กระจายสู่ภูมิภาค สร้างการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
พร้อมกันนี้ ไทยยังเดินหน้าเตรียมเป็นศูนย์กลางการเงินภูมิภาค (Financial Hub) โดยเตรียมร่างกฎหมายเฉพาะและระบบการกำกับดูแลใหม่ เพื่อดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลก รวมถึงการเปิดรับเม็ดเงินใหม่จากต่างประเทศผ่านช่องทางอย่างคริปโตเคอร์เรนซี และส่งเสริม Soft Power เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยระยะยาว
#พรรคเพื่อไทย #ภาษีสหรัฐฯ #เผ่าภูมิโรจนสกุล

บทความที่เกี่ยวข้อง
