‘รมช.ศึกษาธิการ ลิณธิภรณ์’ ลุยอุบลฯ-ศรีสะเกษ ส่งรถห้องสมุดเคลื่อนที่ สร้างกิจกรรมเด็ก ๆ ต่อสายตรง จิตวิทยาจุฬาฯ ประสานนักจิตวิทยาเยี่ยวยาจิตใจ พร้อมให้กำลังใจพร้อมมอบเงินทหาร นศ.สกร. ที่บาดเจ็บ ยันหนุนจบวุฒิ-สร้างอาชีพเสริม
วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปยัง รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อเข้าเยี่ยมให้กำลังใจพลทหารนักศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุเหยียบทุ่นระเบิด บริเวณเนิน 481 ช่องบก ติดชายแดนไทย-กัมพูชา จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ (1) นายธนพัฒน์ หุยวัน นักศึกษาภาคเรียนแรก ม.ปลาย สกร. อ.วารินชำราบ ซึ่งได้รับบาดเจ็บขาขาด ขณะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 6 และ (2) พลทหารณัฐวุฒิ ศรีเข้ม นักศึกษาภาคเรียนสุดท้าย ม.ปลาย สกร. สังกัดหน่วยเดียวกัน มีอาการแน่นหน้าอกจากแรงระเบิด ขณะนี้ปลอดภัยแล้ว
.
ในการนี้ ดร.ลิณธิภรณ์ ได้มอบเงินช่วยเหลือจากสำนักงาน สกร. และเงินส่วนตัว พร้อมแสดงความห่วงใยจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่เคยมาเยี่ยมให้กำลังใจถึงโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ โดยย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ทอดทิ้งผู้เรียนที่ทั้งมีความมุ่งมั่นในการศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติด้วยความเสียสละ จึงจะสนับสนุนการดูแลช่วยเหลือทั้งทางด้านการออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องตามเป้าหมายวุฒิการศึกษา รวมถึงสนับสนุนช่องทางอาชีพเสริม เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต อีกทั้งยังจะสนับสนุนการดูแลด้านสุขภาพจิต โดยนักจิตวิทยาเพื่อประเมินความเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง
.
จากนั้น ดร.ลิณธิภรณ์ พร้อมด้วย นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ และน.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี สส. จ.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เดินทางไปเยี่ยมศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้อพยพจากสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่วัดบ้านแขม อ.เดชอุดม ตลอดจนที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ ซึ่งมีผู้อพยพกว่า 4,000 คน และโรงเรียนเบญจลักษ์ซึ่งมีผู้อพยพกว่า 2,000 คน โดย ดร.ลิณธิภรณ์ ได้สั่งการสนับสนุนรถห้องสมุดเคลื่อนที่ของ สกร. เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิง พร้อมวางแนวทางบูรณาการด้านการศึกษา ทั้งการศึกษานอกระบบและการฝึกอาชีพในระยะต่อไป
.
นอกจากนี้ ดร.ลิณธิภรณ์ ยังกล่าวว่า การดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดน จึงประชาสัมพันธ์โครงการ “Here to Heal” บริการพูดคุยและขอความช่วยเหลือทางใจ กับอาสาสมัครนักจิตวิทยา จากคณะจิตวิทยา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจัดโดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สสส. เปิดทุกวัน 10.00–22.00 น. สามารถลงทะเบียนเพื่อรับบริการได้ที่ chat.here2healproject.com หรือ Line Official: lin.ee/P77s2bW
.
“แม้สถานการณ์ชายแดนจะยังมีความไม่แน่นอน แต่โอกาสทางการศึกษาของประชาชนไทยต้องไม่สะดุด โดยเฉพาะผู้เรียนในพื้นที่เปราะบางและผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จะเดินหน้าอย่างไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าว
.
#พรรคเพื่อไทย #ลิณธิภรณ์ #กรมส่งเสริมการเรียนรู้ #ไทยกัมพูชา
บทความที่เกี่ยวข้อง
