‘จาตุรนต์’ ชี้ สังคมไทยยังไม่มีภูมิต้านทานเผด็จการ แนะ ใช้เจตนารมณ์ ‘พฤษภาประชาธรรม’ สร้างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

วันที่ 17 พฤษภาคม 2568  พรรคเพื่อไทย นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ, ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ, นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมวางพวงมาลาในงานรำลึก 33 ปีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤกษภาประชาธรรม กรุงเทพฯ  โอกาสนี้ นายจาตุรนต์ได้โพสต์ลงโซเชียลมีเดียหลังร่วมงานดังกล่าว เล่าประสบการณ์ตรงเมื่อ 33 ปีก่อน และขอให้คนยุคปัจจุบันใช้กำลังสติปัญญาและความมุ่งมั่นยกระดับประสิทธิภาพของประชาธิปไตย โดยใช้เจตนารมณ์ของเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมมาเป็นบทเรียนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น โดยมีข้อความดังนี้

.

“พฤษภาประชาธรรม ย้อนรำลึกอดีต เพื่อสร้างประชาธิปไตยตั้งมั่น

.

ผมไม่ได้ไปร่วมงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภา 35 และไม่ค่อยได้เขียนรำลึกถึงมาหลายปี ไม่ใช่เพราะลืมหรือไม่เห็นความสำคัญ ส่วนหนึ่งก็คิดว่าการให้ความสำคัญไม่จำเป็นต้องไปงานรำลึกเสมอไป อีกส่วนอาจเป็นเพราะบรรยากาศทางการเมืองนับสิบๆปีมานี้ ผู้ที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 35 ต่อมาก็ไปคนละทิศคนละทางในทางการเมือง มาเจอกันก็คุยกันไม่ค่อยสนิทเหมือนก่อน

.

วันนี้ผมได้รับมอบหมายจากพรรคให้เป็นตัวแทนไปวางพวงมาลารำลึกเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ครบรอบ 33 ปี นอกจากทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเต็มใจแล้ว ก็ทำให้นึกถึงความหลังที่อยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังพอเป็นเกร็ดประกอบสาระที่น่าจะมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในการกล่าวคำสดุดีวีรชนของหลายๆท่านไปแล้ว

.

เหตุการณ์ผ่านไปนานถึง 33 ปียังคงติดตาและจำได้เหมือนเพิ่งเกิดไปไม่กี่วัน

.

หลังการรัฐประหารโดย รสช. เมื่อกุมภาพันธ์ 2534 ต่อมามีการร่างรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายก็เรียกร้องให้ได้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ประเด็นหนึ่งที่เรียกร้องกันก็คือนายกฯต้องมาจากสส. แต่เราก็ได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสมตามที่คณะรัฐประหารต้องการ เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้นำกองทัพก็ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นประกาศไว้ว่าตนเองจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

.

มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นนายกฯต้องมาจากสส.และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา เป็นต้น หลายฝ่ายเข้าร่วมการเรียกร้องมีทั้งองค์กรภาคประชาชนที่รวมกลุ่มกัน องค์กรนักศึกษาที่เป็นตัวแทนนักศึกษาหลายๆมหาวิทยาลัยและพรรคการเมืองฝ่ายค้านทุกพรรคในขณะนั้น

.

ต่อมาเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2535 การชุมนุมกลางกรุงเทพฯ ครั้งแรกและกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ภายในวันเดียวก็เกิดขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าฯ

.

ที่แปลกและแตกต่างจากการชุมนุมก่อนหน้านั้นและหลังจากเหตุการณ์พฤษา 35 มาอีกนานก็คือการชุมนุมครั้งนั้นจัดและนำโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้นโดยมีองค์กรภาคประชาชนอย่างสมาพันธ์ประชาธิปไตยและองค์กรนำของนักศึกษาน่าจะเรียกว่าศูนย์กลางนักศึกษาแห่งประเทศไทยเข้าร่วมจัด

.

ขุนพลที่ปราศัยบนเวทีจึงได้แก่บรรดาหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายชวน หลีกภัย นายอุทัย พิมพ์ใจชน และนายบุญชู โรจนเสถียร พร้อมด้วยตัวแทนของพรรคการเมืองอีกพรรคละคน นอกนั้นก็จะมีผู้นำขององค์กรภาคประชาชนและผู้นำนักศึกษาซึ่งก็คือปริญญา เทวานฤมิตรกุล

.

การชุมนุมครั้งนั้นเป็นที่มาของคำว่าม็อบมือถือ เพราะผู้เข้าร่วมชุมนุมต่างก็มีมือถือกันคนละอัน ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็คงเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเพราะใครๆก็มีมือถือ แต่ในสมัยนั้นเพิ่งมีมือถือกันอย่างทั่วถึงเพียงไม่กี่ปีและการชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านั้น ผู้ชุมนุมยังไม่มีมือถือกัน จึงกลายเป็นเรื่องแปลกใหม่

.

ทั้งนักศึกษาและพรรคการเมือง ไม่มีใครจัดการหรือกะเกณฑ์ให้คนมาฟัง จำได้ว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่วันมีการจัดชุมนุมเล็ก ๆ แต่มีคนสนใจมาฟังกันมากที่ท่าน้ำเมืองนนท์ นับเป็นการโหมโรงและประชาสัมพันธ์ได้อย่างดี

.

การชุมนุมที่ลานพระรูป ตอนบ่ายๆก็เป็นห่วงว่าจะมีคนมาฟังมากหรือไม่ แต่พอหลังเวลาเลิกงานไปสักพัก ไม่รู้คนมาจากไหนเยอะแยะไปหมดจนเต็มลานและล้นออกไป ผมมองจากบนเวทีลงไปเห็นผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากที่ยืนออกันอยู่รอบนอกแต่งตัวแบบคนทำงานออฟฟิศที่เพิ่งเลิกงานกันมาเป็นส่วนใหญ่

.

ผมจำรายละเอียดได้ดีเพราะนอกจากร่วมกับคุณวีระ มุสิกพงศ์ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในการตั้งเวทีแล้ว ผมยังทำหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีตลอดรายการด้วย ได้ใช้ประสบการณ์จากการเป็นผู้นำนักศึกษาเมื่อ 16-17 ปีก่อนหน้านั้นก็คราวนี้

.

การชุมนุมผ่านไปด้วยดี ผู้ปราศรัยๆด้วยเนื้อหาที่หนักแน่นลีลาแพรวพราวแบบเก่าลายครามกันทั้งนั้น เสียงขานรับจากผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนดีมาก การชุมนุมด้วยข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คัดค้านการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารถูกเพิ่มด้วยอีก 1 ประเด็นแบบเป็นธรรมชาติคือจุดติดทันทีก็คือ “สุจินดา ออกไป” ซึ่งประเด็นหลังนี้ไม่ได้เตี๊ยมกันมาก่อน แต่เมื่อคุณวีระ มุสิกพงศ์พูดขึ้นมาระหว่างปราศรัยคนก็เฮรับกันกึกก้องทีเดียว

.

กิจกรรมต่างๆก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนอกสภาและในสภา  ในสภาก็มีการพูดเรื่องนี้เป็นระยะ บางทีก็มีการชุมนุมอยู่หน้าสภาในวันประชุม นักการเมืองออกมาทักทายผู้ชุมนุม ก็ขึ้นปราศรัยบนเวทีไปด้วย

.

ไม่มีข้อกล่าวหาว่าพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุม เพราะพรรคการเมืองนำหน้าแต่ต้น แต่กำลังสำคัญก็ยังอยู่ที่ประชาชนโดยมีองค์กรภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญ ส่วนนักศึกษาแม้ไม่ได้เข้าร่วมมากเหมือนสมัยก่อนโน้น แต่ก็มีบทบาทอย่างสำคัญเนื่องจากเป็นที่ยอมรับของสังคมและแกนนำนักศึกษาในขณะนั้นก็ต้องนับว่ามีคุณภาพมากทีเดียว

.

การเคลื่อนไหวต่อเนื่องมาจนมาถึงเดือนพฤษภา การชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินถูกจัดการด้วยกำลัง เกิดการปะทะกันและมีการปราบ ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุการณ์ยืดเยื้ออยู่ระยะหนึ่ง(ขอเล่าแบบย่อๆมากๆ) ในที่สุดก็เกิดข้อยุติว่านายกฯ ในขณะนั้นลาออก มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้น และมีการเสนอชื่อและแต่งตั้งนายกฯรัฐมนตรีคนใหม่

.

นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือนายอานันท์ ปันยารชุนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็กลับได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง (ก็แปลกดี) น่าจะเป็นเพราะคุณลักษณะส่วนตัวด้วย นายอานันท์ประกาศนโยบายว่าจะอยู่ในตำแหน่งเพียงเวลาสั้นๆเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประเด็นและเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในเวลาอีกไม่กี่เดือนต่อมา

.

หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น มีรัฐบาลที่ผลัดกันบริหารประเทศเพียงระยะสั้นๆอีก 4 รัฐบาล แต่ละรัฐบาลมีปัญหาเสถียรภาพโดยตลอด แต่ก็เกิดพัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญคือการปฏิรูปการเมืองที่เริ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์พฤษาภา 35 ต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิดการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 โดยสสร.ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางจนเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่นับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่ง (ในไม่กี่ฉบับ) ของประเทศไทย

.

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ประสบผลสำเร็จในเดือนพฤษภา ปี 35 ได้สร้างคุณูปการอย่างสำคัญ คือได้หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการของคณะรัฐประหารและเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกับการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมจนทำให้เกิดรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้น 

.

หลังจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 การพัฒนาของระบบพรรคการเมืองก็เกิดขึ้น การเลือกตั้งมีคุณค่าความหมายมากกว่าที่เคยเป็นมา ประชาธิปไตยเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างชัดเจนจนเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยกินได้”

.

จึงขอสดุดีวีรชน พฤษภาประชาธรรมมาในโอกาสนี้ 

.

ที่จะฝากเป็นคำถามก็คือ

.

เรารำลึกเสียใจต่อผู้สูญเสียในการต่อสู้ ชื่นชมยกย่องในการเสียสละของพวกเขาที่ทำให้เราต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการสำเร็จและทำให้เกิดการปูทางไปสู่การสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยที่เจริญก้าวหน้าที่สุดในเวลาหลายปีต่อมา

.

แต่ก็คงต้องยอมรับว่าไม่เพียงแต่ดอกผลประชาธิปไตยที่งอกงามจากต้นประชาธิปไตยในครั้งนั้น มาวันนี้ได้ถูกเด็ดทิ้งทำลายไป แม้กระทั้งต้นประชาธิปไตยก็ถูกบอนไซและยังถูกครอบด้วยกลไกอันสลับซ้อน

.

สังคมไทยยังไม่มีภูมิต้านทานเผด็จการที่เข้มแข็งเพียงพอ หลักการพื้นฐานประชาธิปไตยยังไม่ถูกปลูกฝังให้แน่นแฟ้นและยังจำเป็นต้องส่งเสริมให้เห็นความเลวร้ายของเผด็จการและคุณค่าของประชาธิปไตยอย่างกว้าขวางกว่าที่เป็นอยู่

.

จึงมาเป็นคำถามถึงคนในยุคปัจจุบันว่าจะใช้กำลังสติปัญญาและความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของประชาธิปไตย  (Democratic performance) ของกลไกสถาบันทางการเมืองได้อย่างไร โดยศึกษาจากวีรชนพฤษภาประชาธรรมที่ต่อสู้ด้วยสองมือเปล่า เอาชนะอำนาจเผด็จการที่เข้มแข็งที่สุดกลุ่มหนึ่งจนสำเร็จมาแล้ว นำเอาเจตนารมณ์ที่แน่วแน่จิตใจที่กล้าหาญเสียสละมาประสานกับความคิดที่สร้างสรรค์สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นอาจจะเกิดขึ้นก็ได้”

.

#พรรคเพื่อไทย #จาตุรนต์  #พฤษภาประชาธรรม #ประชาธิปไตย