‘ดร.ทักษิณ’ เสนอแนวคิดแก้ระบบราชการ ลดจ่ายใต้โต๊ะ เล็งปรับลดงบทหาร รับมืออนาคต-สร้างรายได้ใหม่ทั้งจากไฟฟ้าสีเขียว รถ EV และถมทะเล

วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และที่ปรึกษาประธานอาเซียน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก พลิกเกมเศรษฐกิจไทย” โดยนำเสนอแนวทางฟื้นฟูโครงสร้างประเทศ ตั้งแต่ระบบราชการ การคลัง การเมือง การค้าระหว่างประเทศ ไปจนถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เพื่ออนาคต

หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกคือเรื่องภาษีสหรัฐฯ โดยเฉพาะ “ภาษีทรัมป์” ซึ่งทีมไทยแลนด์กำลังเจรจาเพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบ พร้อมทั้งเสนอทางเลือกใหม่ให้สหรัฐฯ พิจารณา โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็กำกับดูแลการเจรจาอย่างใกล้ชิด

“อีกเรื่องที่เราสะดุด คือเรื่องภาษีทรัมป์ ที่เรากำลังเจรจาอยู่ ทีมไทยแลนด์กำลังเจรจาอยู่ โดยได้ยื่นข้อเสนอใหม่ ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็นั่งกำกับ ไม่ให้เราเสียเปรียบ ไม่ให้เราถูกเบียดเบียน”

ดร.ทักษิณ อธิบายว่า ไทยส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐฯ ในหลายลักษณะ เช่น ส่งออกสินค้าที่ประกอบในไทยจากวัตถุดิบจีน หรือสินค้าจากบริษัทอเมริกันที่ตั้งโรงงานในไทย ซึ่งส่วนนี้ได้รับผลกระทบน้อย แต่สินค้าจากกลุ่มเกษตร SMEs อัญมณีได้รับผลกระทบมากกว่า

“แต่ที่กระทบมากคือตัวที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่เราส่งไป เช่น สินค้าเกษตร สินค้า SMEs หรือพวกอัญมณี ซึ่งเรากำลังแก้ไข และให้แนวทางกันว่า ถ้าเราจะนำเข้าสินค้าจากอเมริกา แล้วมาแข่งขันกับสินค้าที่เรานำเข้าจากประเทศอื่น ก็เป็นเรื่องที่ดี”

“เรายอมรับให้เข้ามาแข่งกันเอง เช่น เนื้อ ที่จะมีการแข่งขันกับออสเตรเลีย หรือมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ก็ไม่เป็นอะไร หลายอย่างที่เราเปิดได้เราก็เปิด”

“สิ่งที่เราเปิดวันนี้เราก็คุยกัน น่าจะเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การตกลงใจกันได้ แต่ให้จำไว้ว่า คำว่าดีลไม่มีจบ ถ้ายังไม่พอใจก็ดีลกันต่อ”

“นี่เป็นลักษณะการเจรจาธุรกิจ คำว่าประเทศ เขาใช้คำว่า Economic ก็คล้าย ๆ ธุรกิจ ที่ต้องเจรจากันต่อเนื่องตลอดไป เพราะฉะนั้นเราหยุดตรงนี้ไม่ได้”

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมไฟฟ้า และการผลิตรถ EV ในไทย

“วันนี้ถ้าเราใช้รถไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นของจีนทั้งหมด เราเจ๊งก่อน แล้วจะทำอย่างไร ถึงจะสร้างอุตสาหกรรมที่มีอีโคซิสเต็มส์ (Ecosystem) ของเรา ที่แข็งแรง แล้วใช้โรงงานผลิตในประเทศไทย ใช้อุตสาหกรรมต่อเนื่องทางรถยนต์ที่เรามีระบบที่ดีอยู่แล้วให้ได้ แล้วส่งเสริมไฟฟ้าอย่างจริงจัง มันเป็นเรื่องที่ควรต้องทำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ภาคประชาชน”

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงปัญหาประสิทธิภาพของภาครัฐที่เสื่อมถอยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“ส่วนราชการใหญ่ขึ้น จำนวนข้าราชการมีมากขึ้น และการบริการแย่ลง เมื่อก่อนตอนที่อยู่ เราพยายามให้ข้าราชการให้บริการ รวมถึงช่วงวันเสาร์อาทิตย์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว”

“วันนี้ต้องมาแก้ไขระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถ้าจะปรับโครงสร้างระบบราชการทุกกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ระเบียบกฎหมาย และงบประมาณ อาจจะขอให้มหาวิทยาลัยรับไปดูแลในแต่ละกระทรวง เพื่อทำแผน และนำเสนอให้กับรัฐบาลเพื่อเห็นแนวทางในการปรับปรุงการบริหารของระบบราชการ ต้องพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง เพราะวันนี้ค่าใช้จ่ายภาครัฐสูงมาก สูงจนไม่มีเงินจะบริหาร”

ดร.ทักษิณ ยกตัวอย่างดูไบซึ่งไม่มีระบบภาษี แต่ใช้การเก็บค่าธรรมเนียมบริการรัฐ หรือ “Fee” แทน ซึ่งสามารถนำรายได้ไปสนับสนุนสวัสดิการข้าราชการได้โดยไม่ต้องมีสินบนหรือเงินใต้โต๊ะ

“ถ้าเราเก็บเป็น Fee แล้วคำนวณได้ว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าไหร่ ทั้งอย่างรวดเร็วทันใจ และเป็นระบบดิจิทัลไลท์หมด ก็จะไม่มีใต้โต๊ะ ที่ข้างบ้านเล็ก ๆ 60 ตารางวา ขอรังวัดที่ดินมีค่าธรรมเนียมถูกต้องตามกฎหมาย และมีค่าวัดขั้นตอนเพื่อให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งแพงกว่าค่าธรรมเนียม เราก็ต้องจ่าย ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้รังวัดสักที นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ดังนั้นสู้เก็บบนโต๊ะ และเก็บมากหน่อยเพื่อนำไปแบ่งกับข้าราชการ เป็นค่า Fee จะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องรีบ”

ในเรื่องงบประมาณด้านสาธารณสุข เขาชี้ว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ควรจัดทำงบประมาณแบบ “Zero-Based Budgeting” โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายจริงต่อหัว เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการเพิ่มงบโดยไม่ทบทวน

“ต้องเริ่มที่การจัดทำงบประมาณโดยความจำเป็น (Zero-Based) ได้หรือไม่ ซึ่งต้องคำนวณว่าเป็นเท่าไหร่ต่อหัว อาจจะทำให้เราประหยัดได้มาก ไม่ใช่กลบไปเรื่อย ๆ ไม่เช่นนั้นสวัสดิการบ้านเราจะรับไม่ไหว”

ในส่วนของงบกลาโหม และกองทัพ ดร.ทักษิณ ย้ำว่าควรมีการปรับลดและเปลี่ยนแปลงยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย รับมือยุคสงครามไซเบอร์

“งบทหารสูงขึ้นมากระหว่างที่ผมไม่อยู่ น่าจะถึงเวลาที่ต้องหาทางลดและปรับ ไม่เช่นนั้นเราจะล้าหลังและล้าสมัย รวมถึงสิ้นเปลือง ซึ่งหลายอย่างเราเก็บซากไว้เพื่อเบิกค่าน้ำมัน”

“ดังนั้นระบบสวัสดิการของข้าราชการจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใช้มหาวิทยาลัยเข้าไปดูแต่ละกระทรวงว่าจะปรับอะไรได้บ้าง ดีกว่าเอานักการเมืองเข้าไปดู เขาจะหาว่านักการเมืองไปกลั่นแกล้ง”

ในเรื่องเศรษฐกิจระดับมหภาค เขาพูดถึงแนวคิด “ขุดคลอง ลอกคลอง และถมทะเล” เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน พร้อมยกระดับผังเมืองและป้องกันน้ำท่วม

“ถ้าอนุญาตให้ประชาชนขุดดิน ขุดทรายในคลองเอาไปขายหรือถมดินได้เลย แต่มีกติกาว่าต้องรักษาตลิ่งไม่ให้พัง จะทำให้เกิดนิเวศน์ใหม่ รถขนดินเยอะขึ้น มีเรือท้องแบนสำหรับใส่ทรายใส่ดิน และจะทำให้ร่องน้ำกว้างขวางขึ้น ลึกขึ้น น้ำไม่ท่วม ขณะเดียวกันประชาชนได้เงินใช้ เรื่องนี้ทำยากมาก เพราะระบบราชการและกฎหมายไม่เอื้ออำนวย ถมทะเลกับการลอกคลองไปด้วยกันได้ แม่น้ำเจ้าพระยาจะหายตื้นเขิน แล้วไปถมทะเลอยู่ใกล้ ๆ ตรงนั้น ก็จะทำให้ราคาถูกลง”

ด้านพลังงาน เขาเสนอการเปลี่ยนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าสีเขียว ด้วยการตั้งโซล่าฟาร์มเพิ่มกำลังการผลิต 40,000 เมกะวัตต์ โดยใช้ที่ดิน ส.ป.ก. บางส่วนซึ่งมีอยู่กว่า 40 ล้านไร่

“วันนี้เรานำเข้าน้ำมันดีเซล 60 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเบนซิน 25 ล้านลิตรต่อวัน และน้ำมันอื่น ๆ อีกประมาณ 10 ล้านลิตรต่อวัน เท่ากับโรงงานผลิตไฟฟ้า 40,000 เมกะวัตต์ หากเราผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 40,000 เมกะวัตต์ และรถใช้ไฟฟ้าหมด เราก็ไม่ต้องนำเข้าน้ำมัน วันนี้ data center ที่จะมาไทยปรากฏว่าติดไฟฟ้าสีเขียวไม่พอ หากเราทำให้เพียงพอ เขาจะมาเอง หากตั้งฟาร์มในพื้นที่อีสาน แล้วลากสายตรงมากรุงเทพฯ ไม่ต้องไปผ่านของเก่า คิดว่าราคา 3 บาทต่อยูนิตยังเอาอยู่”

ท้ายที่สุด ดร.ทักษิณ ย้ำว่า “ประเทศไทยควรถือโอกาสวันนี้รีบผลิตไฟฟ้าสีเขียวให้ได้ และเอา data center มาไว้ที่ประเทศไทย เรียกว่าเป็นเอมบาสซีของโลก”

#พรรคเพื่อไทย #ทักษิณชินวัตร #ปลดล็อกอนาคตประเทศไทยสู้วิกฤติโลก