จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 28
วันที่ 4 พฤษภาคม 2568 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วมของการประชุม ทั้งนี้ รายละเอียดการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
1. การประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 28 ที่ประชุมได้หารือและแสดงความเห็นในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 ในปี 2568และ 2569 ยังมีความเสี่ยงจาก ความไม่แน่นอนในการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อการเติบโต ทางเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 อย่างมีนัยสำคัญ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ร้อยละ 3.3 ลดลงเหลือร้อยละ 2.8 นอกจากนี้ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ยังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน+3 ในปี 2568 และ 2569 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 4.2 และ 4.1 ตามลำดับ ลดลงเหลือร้อยละ 3.8 และ 3.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนการบูรณาการทางการค้าและบริการภายในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพเพื่อกระจายการส่งออกและลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบายด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินในกรอบอาเซียน+3 ได้แก่ ทิศทางการดำเนินการในอนาคตของโครงสร้างความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค การเสริมสร้างประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี การจัดหาเงินทุนเพื่อรองรับ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การดำเนินการของ AMRO มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย และข้อริเริ่มภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3
.
2. การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการคลังระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 นอกจากการประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 28 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการคลังระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นในการดำเนินนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียน+3ใน 2 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมการเติบโตควบคู่กับการรักษาความยั่งยืนทางการคลัง (Promoting Growth While Maintaining FiscalSustainability) และ (2) การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ (Addressing Population Aging)
.
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาวินัยทางการคลัง ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่การเพิ่มรายได้ภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน และการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio – Circular – Green (BCG) Economy) พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านความร่วมมืออาเซียน+3 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนร่วมกัน นอกจากนี้ ในประเด็นการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยเผชิญความท้าทายด้านโครงสร้างจากปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งส่งผลต่อกำลังแรงงานและภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยจึงดำเนินกลยุทธ์หลายด้าน เช่น การจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ การส่งเสริม การจ้างงานและพัฒนาทักษะผู้สูงวัย การลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ การส่งเสริมการออมโดยสมัครใจพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการเปิดตัวสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณเพื่อกระตุ้นการออมระยะยาว ทั้งนี้ ประเทศไทยเห็นความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยร่วมกันอย่างยั่งยืนในระยะยาว
.
3. การประชุมหารือทวิภาคี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้หารือทวิภาคีกับนาย Scott Morris รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ABD) ถึงแนวทางในการเร่งผลักดันการดำเนินเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ ADB ที่มีความสำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และโครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อก่อสร้างอาคารและขยายเตียงการให้บริการรองรับผู้ป่วย รวมทั้งโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรระหว่าง ADB กองทุน Climate Investment Funds (CIF) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธพว.) ตลอดจนความเป็นไปได้ในการกระชับความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว




บทความที่เกี่ยวข้อง
