ครม. มีมติให้คลังออก G-Token ขายให้ประชาชนโดยตรง นำร่อง 5 พันล้าน ยันไม่ใช่เครื่องมือชำระเงิน คาดเริ่มต้นภายใน 2 เดือน

วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ การอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพให้กับประชาชน

โดยผลักดันโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลให้เป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการลงทุน ให้กับประชาชนมากขึ้นและนอกจากนี้การออก G-ToKen ยังช่วยเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยรัฐบาลเน้นย้ำในเรื่องของระบบและกระบวนการที่มีความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นตามกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า G-Token  หรือ Government Token พันธบัตรสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ เครื่องมือการออมและลงทุนรูปแบบใหม่สำหรับประชาชนโดยตรง วงเงินทดลอง 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐใช้รูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลในการระดมทุนจากประชาชนโดยตรง

“โดยทั่วไปการออกพันธบัตรออมเงินจะออกโดยสถาบันขายให้กับประชาชน  เราจึงเพิ่มเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนให้รัฐบาล ซึ่ง G-Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี และไม่สามารถนำไปใช้แทนเงินสดหรือซื้อขายสินค้าได้ ไม่ใช่เครื่องมือการชำระเงิน  แต่ประชาชนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินทั่วไป และสามารถเริ่มต้นลงทุนได้น้อย สมมุติ จะลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท 1,000 บาท ก็ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่” นายพิชัยกล่าว

การออก G-Token ครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ หนึ่ง เพิ่มเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาล และสอง ขยายโอกาสการเข้าถึงการลงทุนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินลงทุนน้อย ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่สามารถเข้าถึงตราสารหนี้ของรัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ได้อย่างทั่วถึง

นายพิชัย ยืนยันว่า G-Token จะอยู่ภายใต้ระบบควบคุมที่ปลอดภัยและโปร่งใส โดยสามารถซื้อขายผ่านระบบดิจิทัลของตลาดทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อวางโครงสร้างระบบให้มั่นคงและเชื่อถือได้

สำหรับข้อกังวลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีต่อการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในระบบเศรษฐกิจนั้น กระทรวงการคลังยืนยันว่า G-Token ไม่ใช่เครื่องมือชำระเงินตามกฎหมาย ไม่เป็นภัยต่อเสถียรภาพของเงินบาท 

ทั้งนี้ การเปิดให้ประชาชนจองซื้อ G-Token คาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า โดยจะวางแผนเปิดจำหน่ายจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ภายใต้ขนาดการทดลองที่เหมาะสม ก่อนพิจารณาขยายวงเงินหรือขอบเขตการดำเนินงานเพิ่มเติมในระยะถัดไป หากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในระบบตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่พร้อมรองรับ G-Token แล้วประมาณ 7–8 ราย ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายและการดูแลระบบหลังบ้าน

#พรรคเพื่อไทย #แพทองธาร #พิชัยชุณหวชิร #GToken 

Tags: