เปิดความคิด พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ต่อท่าทีต่อสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่การเจรจาลดกำแพงภาษี แต่คือการสร้างอนาคตเศรษฐกิจใหม่ ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมย้ำชัดว่าไทยไม่เลือกข้างใคร แต่เลือก “สันติภาพ”
เปิดความคิด พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ต่อท่าทีต่อสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่การเจรจาลดกำแพงภาษี แต่คือการสร้างอนาคตเศรษฐกิจใหม่ ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมย้ำชัดว่าไทยไม่เลือกข้างใคร แต่เลือก “สันติภาพ”
พันศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการเผยความรู้สึกนึกคิดต่อสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ว่า เขามีความรู้สึกเห็นใจคนอเมริกันมากที่กำลังลำบาก เพราะปรัชญาเศรษฐกิจของอเมริกันแข็งตัวเกินไปที่จะตอบสนองความเป็นจริงของชีวิตของคนอเมริกันเอง และน่าตกใจที่สุดเมื่อพบว่าคนอเมริกันผิวขาวำกำลังตกงานจำนวนมาก
เขาย้ำว่าสิ่งนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของอเมริกา แต่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย เพราะเมื่อใดที่มหาอำนาจในโลกมีปัญหาภายใน จนส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะอันตรายมากกับโลก
“ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องคิดคือ การพยายามทำอะไรก็ตามที่ทำให้คนอเมริกันเหล่านี้ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสหรัฐให้มากที่สุด เพราะเราต้องการเห็นสหรัฐเป็นมหาอำนาจที่มีสติและมีอนาคต”พันศักดิ์ ขยายความถึงต้นต่อที่มาของปรากฎการณ์ภาษีทรัมป์ ว่าเกิดจากปรากฎการณ์การล่มสลายของการจ้างงานที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง พร้อมชี้ให้เห็นว่านี่เป็นหัวใจของปัญหาร่วมกันทั้งสหรัฐฯ และจีน โดยระบุว่า หัวใจของปัญหา ของทั้งสหรัฐฯ และจีนที่เผชิญอยู่ร่วมกันถือเป๋็นวิกฤติเชิงโครงสร้าง คือ การล่มสลายของการจ้างงานอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่การผลิตถูกครอบงำโดยเทคโนโลยีชั้นสูง และหุ่นยนต์ และการล่มสลายของการจ้างงานที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะภาคอุตสาหกรรม แต่กำลังขยายตัวไปยังภาคเกษตรกรรมอย่างรวดเร็วด้วย
และทั้งสหรัฐฯ และจีน ยังไม่มีทางออกที่น่าเชื่อถือในการรักษาการจ้างงาน ในขณะที่ระบบอัตโนมัติกำลังทำลายโครงสร้างแรงงานแบบดั้งเดิม ดังนั้นอันตรายที่แท้จริงไม่ใช่ดุลการค้า แต่คือการลดทอนความสำคัญของการค้าเองเมื่อเทคโนโลยีทำให้สินค้าไร้ความแตกต่างข้ามพรมแดน เมื่อประเทศต่างๆ ผลิตสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน
คำถามสำคัญคือ “จะมีอะไรเหลือให้แลกเปลี่ยน” และ “ใครจะยังมีบทบาท” ในระบบเศรษฐกิจนั้น นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นภัยคุกคามเชิงการเมือง เชิงสังคม และท้ายท้ายที่สุดคือภัยคุกคามต่อโครงสร้างพื้นฐานของสังคม และในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ พื้นที่ของประเทศไทยอยู่ที่ไหน
พันศักดิ์ ชี้ว่าที่ผ่านมา โลกถูกคุกคามด้วยภัยธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้นมา อย่างมลพิษคาร์บอน (carbon pollution) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้นมา แต่หากถามว่าเทคโนโลยีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร คำตอบคือ ไม่มี เพราะหลายประเทศมีเทคโนโลยีใกล้เคียงกันทั้งหมด
“จีนก็ทำได้ สหรัฐก็ทำได้ ถ้าค้าขายกันโดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ก็เท่ากับไม่ได้แลกเปลี่ยนอะไรใหม่เลย ไม่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) สุดท้ายก็แข่งกันด้วยดีไซน์ สี หรือรูปทรงเล็ก ๆ น้อย ๆ และนั่นคือคำถามเชิงยุทธศาสตร์ว่าประเทศจะได้เปรียบอะไร ถ้าขายของที่ประเทศอื่นก็ทำได้เหมือนกัน?”
พันศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญคือ จีนอาจไม่ได้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เอง แต่เขาเรียนรู้ได้เร็ว และไม่ใช่เรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เรียนรู้ “วิธีบริหารองค์ความรู้ของคนอื่น” ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมของตัวเอง เช่น จีนไปว่าจ้างสตูดิโอออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าจากอิตาลีให้มาร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง
นี่คือการดึงศักยภาพจากนานาชาติมาสร้างจุดแข็งในประเทศตนเอง ถามว่าจีนทำอะไรใหม่หรือไม่? คำตอบคือไม่ เพราะวิธีนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับญี่ปุ่นเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ถ้าสังเกตกล้อง Nikon รุ่นเก่า ๆ จะเห็นว่ามีดีไซน์เหลี่ยม ๆ แบบดั้งเดิม แต่หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็เริ่มใช้ดีไซน์ที่ดูทันสมัยมากขึ้น ซึ่งออกแบบโดยนักออกแบบจากอิตาลี นี่คืออีกตัวอย่างของประเทศที่บริหารจัดการความรู้ของคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่เรากำลังเห็นในวันนี้ คือ สหรัฐกับจีนต่างไม่มีความได้เปรียบในทักษะที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique Skill Advantage) เทคโนโลยีที่ทั้งสองฝ่ายใช้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการออกแบบ ระบบการผลิต ล้วนใช้หลักการคล้ายกัน ลองสังเกตดูโรงงานของจีนกับ Tesla ก็ล้วนใช้หุ่นยนต์ผลิตสินค้าเหมือนกัน
แม้ยังมีแรงงานคนอยู่ แต่ในอนาคต AI จะสามารถทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้ โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำ ๆ และในขณะที่แต่ละฝ่ายอ้างว่ากำลังแข่งขันทางการค้า แต่แท้จริงแล้วใช้คำว่าแข่งขันไม่ได้ เพราะแต่ละฝ่ายนำเสนอสิ่งเดียวกัน อันตรายที่แท้จริงของโลกปัจจุบันคือ ไม่มีอะไรที่แตกแตกต่าง และเมื่อไม่มีความแตกต่าง การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะยิ่งยากขึ้น แม้แต่ภายในประเทศก็จะปั่นป่วน
พันศักดิ์ กล่าวอีกว่า คุณลองคิดดูนะ ประเทศหนึ่งต้องการให้เศรษฐกิจโต แต่กลับให้คนตกงาน เพราะนำหุ่นยนต์เข้าไปแทนที่แรงงาน อีกประเทศก็สู้กลับด้วยวิธีเดียวกัน ผลคือแรงงานเผชิญกับการตกงานเหมือนกัน แล้ววิธีคิดของทั้งสองฝ่ายก็คล้ายกันหมดเลย เอาฟังก์ชันของสิ่งของเป็นตัวตั้ง คิดแบบเดียวกัน เป้าหมายคล้ายกัน
สุดท้ายมันจะกลายเป็นวิกฤต ทั้งวิกฤตการเมือง วิกฤตสังคม และท้ายที่สุดวิกฤตโครงสร้าง สำหรับสหรัฐฯ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ชัดเจนมากจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์ที่ผมพูดถึงมันเกิดขึ้นในอเมริกา และมันมีปรากฏการณ์ที่ชัดเจนขึ้นชัดเจนจากผลการลงคะแนนเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมามี คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน คนชั้นกลางที่รู้สึกว่าไม่มีอนาคต กลับไปเลือกทรัมป์ ทั้ง ๆ ที่ในอดีต คนจนมักจะอยู่ฝั่งเดโมแครต ไม่ใช่ฝั่งรีพับลิกัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐไม่เป็นแบบนั้น แม้แต่คนในพรรคเดโมแครตเองยังพูดว่า เวลาพรรคเดโมแครตหรือแม้แต่รีพับลิกันพูดเรื่องเศรษฐกิจตอนหาเสียง ฟังแล้วเหมือนนั่งเรียนเลกเชอร์ในคลาส MBA แต่คนที่นั่งฟังคือชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้จบ MBA ในขณะที่ทรัมป์พูดด้วยประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ และเข้าถึงจิตใจประชาชนด้วยประโยคเดียวว่า “I will make America great again” ซึ่งตรงใจคนอเมริกันมาก
และเกิดปรากฏการณ์เจดี วานซ์ (J.D. Vance) กลายมาเป็นวุฒิสมาชิกได้ภายในไม่ถึง 5 ปี ทั้ง ๆ ที่เมื่อ 6 ปีก่อน เขาเพิ่งเรียนจบ และได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ White Trash ซึ่งต่อมาหนังสือเล่มนั้นก็ถูกทำเป็นหนังใน Netflix เขาเขียนคำนำไว้ว่า “…ฉันอายุแค่ 28 หรือ 32 เอง ไม่มีอะไรจะบอกกับผู้อ่านมากหรอก เพราะชีวิตเพิ่งเริ่มต้น…”
พร้อมเล่าชีวิตของครอบครัวเขา ซึ่งเป็นคนผิวขาวที่ทั้งบ้านตกงาน ติดยา สิ้นหวัง อยู่กันในชุมชนที่เต็มไปด้วยคนที่เป็นแบบเดียวกัน เนื้อหาในหนังสือทำให้คนอเมริกันตกใจ โดยเฉพาะสังคมคนชั้นกลาง คนมีฐานะ เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนผิวขาวในประเทศตัวเองจำนวนมากอยู่กันแบบสิ้นหวังขนาดนั้น
หนังสือเขากลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของ New York Times best Sellerist เมื่อ 5 ปีที่แล้วเขาบอกว่าเขาเป็นคนที่โชคดีที่ได้รับทุนการศึกษาและมาเรียนที่ Yale Law School และเมื่อคนอเมริกันชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง รู้สึกเหมือนกำลังอ่านนิยายที่เล่าว่า นรกของคนผิวขาวมีอยู่จริงในอเมริกาประเด็นคือทำไมคนเหล่านี้ถึงโหวตให้ทรัมป์? เพราะทรัมป์คุยกับเขา คุยกับคนที่ไม่มีอนาคต เมื่อมีเศรษฐี 10 คน เศรษฐีคนนึงเลือกคุยกับคนจน แต่อีก 9 คนไม่คุยด้วย คุณคิดว่าคนจนนั้นจะรู้สึกยังไง?เขาก็จะเลือกคุยกับคนที่คุยกับเขานั่นแหละ นี่เป็น political analysis ของนักวิเคราะห์ที่เก่งมากด้านการเมืองของสหรัฐ ผมอยากบอกว่าปรากฏการณ์นี้ถูกพูดถึงและกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ที่สหรัฐเคยใช้มา ไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว ซึ่งมีนักวิชาการชื่อดังคนหนึ่งของอเมริกาพูดใน YouTube ว่าทรัมป์ไม่เข้าใจว่า America has move on
นั่นหมายความว่าสหรัฐได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจที่เคยมีภาคการผลิตเข้มแข็ง ให้กลายเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมบริการ (Service Industry) ในระดับกลางและระดับสูงไปแล้ว เหลือประชากรแค่ 4% ที่อยู่ในระบบการผลิตเก่าของสหรัฐ จากทั้งหมด 200 ล้านกว่าคน เนี่ย 4% คนพวกนี้แหละที่กำลังลำบากและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้คนชั้นกลางที่เคยอยู่ในจุดเชื่อมต่อระหว่างระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมบริการ มีชีวิตที่ลำบากขึ้น เพราะภาคการผลิตไม่รองรับเขาอีกต่อไปแล้ว พวกเขารู้สึกโกรธ สิ้นหวัง เพราะฉะนั้นคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งและคนที่ตกงานจึงฟังหันมาฟังทรัมป์ที่เป็นให้ความหวังของชีวิต
พันศักดิ์ ย้อนกลับไปขยายความถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลมาถึงการตกงานของคนขาวในสหรัฐฯ ว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ “คิสซิงเจอร์” จับมือกับ “เหมาเจ๋อตง” และไปเจอ “โจวเอินไหล” “เติ้งเสี่ยวผิง” ตอนนั้นไม่มีใครในโลกที่คิดว่าจีนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ขนาดนี้ใน 40 ปีถัดมา
ตอนนั้นโลกไม่คิดว่าจีนจะกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จระดับโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การย้ายการผลิต Consumer Product ระดับต่ำและระดับกลางของโลกตะวันตกไปที่จีน และจีนสามารถตอบสนองด้วยแรงงานที่มีคุณภาพ และที่สำคัญคือแรงงานปรับตัวได้ตลอดเวลาโดยแรงงานจีนสามารถแข่งขันได้กับอุตสาหกรรมตะวันตก เมื่อเป็นแบบนี้ จีนก็กลายเป็นโรงงานของโลก (Factory of the World) คนที่เคยทำงานในโรงงานของโลกตะวันตกจึงตกงาน ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แต่ในความปกตินั้นสร้างปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะฉะนั้นคำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่บอกว่า America has moved on คิดว่าเขาลืมใส่คอมม่าต่อท้ายว่า “America has moved on, and left behind a giant problem.” ปัญหานั้นก็คือ อเมริกากำลังเผชิญวิกฤตคนไม่มีงานทำ ประเทศไทยมีส่วนหนึ่งของปัญหานี้ไหม คำตอบก็คือใช่เรามี เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร แล้วประเทศไทยมีส่วนในปัญหานี้ไหม? คำตอบคือ “ใช่” เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้
พันศักดิ์ กล่าวต่อว่า ไทยค้าขายกับอเมริกันมาเกือบ 10 ปี ปีแรก ๆ กำไรหมื่นกว่าล้านดอลลาร์ กระทั่งล่าสุด 40,000 ล้านดอลลาร์ ถามว่าเป็นไปได้ยังไง? นั่นเพราะว่า เกือบ 30% เป็นของบริษัทอเมริกันเองที่มาตั้งโรงงานในเมืองไทย แล้วผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่งกลับไปขายที่อเมริกาหนึ่งในนั้นคือบริษัท Western Digital และ Seagate ผลิตฮาร์ดดิสก์สำหรับระบบเก็บข้อมูลใน Data Center ซึ่งผลิตในไทยมาแล้วกว่า 40 ปี และฮาร์ดดิสก์ 90% ในโลกนี้อยู่ในระบบนี้แหละ เพราะฉะนั้นบริษัทนี้ส่งออกสินค้าจากเมืองไทยไปอเมริกาปีละกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่รวมสินค้าอื่น ๆ อย่าง ข้าวหอมมะลิไทย กะปิ น้ำปลา ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ส่งไปอเมริกาปีละกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ และมี SMEs ไทยกว่า 2,200 ราย ส่งสินค้าไปขาย มีการจ้างงานคนไทยเกือบ 400,000 คน ผลปรากฏว่าเมื่อทรัมป์พิจารณาบัญชีการค้าของสหรัฐกับโลก ประเทศไทยจึงติดท็อป 14 ของประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าหนักสุด และทรัมป์จึงต้องเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยถึง 36% พูดง่ายๆ คือ ไทยมีลูกค้าคือสหรัฐที่คิดว่าไทยทำกำไรมากว่า 10 ปี ปีละกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ จนกระทั่งปีสุดท้าย 40,000 ล้านดอลลาร์ และขอเก็บภาษีนำเข้า 36% ทั้งๆ ที่กว่า 30% ของการส่งออกของไทยไปสหรัฐ เป็นบริษัทอเมริกันเอง ซึ่งสินค้าประมาณ 19% เป็นพวกฮาร์ดดิสก์ ซึ่งปีหนึ่งมีมูลค่าส่งออกเป็นหมื่นล้านดอลลาร์ โดยคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ บริษัทอเมริกันที่ทำ Data Center AI แต่เมื่อพิจารณาดุลการค้ากลับปรากฏว่าไทยเกินดุลการค้า
สุดท้ายเราก็ต้องมานั่งแก้ปัญหานี้กันให้ได้ เพราะทรัมป์พูดเองว่า คนอเมริกันตกงาน แล้วถามว่า ไทยเป็นส่วนทำให้คนอเมริกันตกงานหรือไม่? คำตอบคือ เราไม่ได้ทำให้เขาตกงาน แต่เป็นเพราะแนวคิดของระบบเศรษฐกิจอเมริกันเอง ที่มีความคิดว่าซื้อของที่ถูกที่สุดและที่มีคุณภาพ ไม่ต้องทำเอง ทีนี้จะให้แก้ยังไง? เราก็ต้องกลับมามองตัวเอง ภาษีแอปเปิ้ลที่เก็บอยู่ 40-50% เราปลูกแอปเปิ้ลแข่งสหรัฐได้เหรอ? ถ้าไม่ใช่ เราก็ควรเลิกเก็บภาษีแบบเพี้ยน ๆ เหล่านี้ด้วย
พันศักดิ์ กล่าวอีกว่า ไทยควรเจรจากับสหรัฐว่าเราเข้าใจปัญหาของเขา แล้วเราเป็นคู่ค้ากันมานานต้องคุยกันที่จะแก้ปัญหานี้ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราเหมือนกัน ต่อรองกับรัฐบาลใหม่ของเขาให้ดี ซึ่งไทยได้ส่งโน้ตไปแล้วว่าไทยพร้อมที่จะคุยอย่างเป็นมิตร ไม่มีการกล่าวหาผมชื่นชมจดหมายของนายกรัฐมนตรีไทยที่ส่งถึงทรัมป์ ไม่มีการกล่าวหา ส่งแบบมิตรจริง ๆ หากถามว่าทางรัฐบาลนี้เตรียมตัวที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ผมขอตอบเลยว่าผมเตรียมตัวมา 5 ปีแล้วตั้งแต่อ่านหนังสือชื่อ White Trash ของ J.D. Vance ก่อนที่ทรัมป์จะชนะเลือกตั้ง ผมก็เริ่มรู้แล้วว่าทรัมป์น่าจะมา และถ้าจริงเราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งผมเตรียมไว้ 2 อย่าง คือ 1.เรื่องภาษี หรือที่เรียกว่า “non-tariff barriers” ซึ่งฝั่งอเมริกาเคยแจ้งมานานแล้วว่าไม่พอใจ 2.ภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ทางการค้าว่ารัฐบาลใหม่ของอเมริกามองไทยยังไง และเราจะเสนออะไรตอบกลับไป ทั้งนี้เมื่อดูบัญชีการส่งออกสินค้าไทย จะเห็นว่าบัญชีสินค้าส่งออกที่เป็นวัตถุดิบอาหารจะขึ้นบ้าง ลงบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากเป็นอาหารแปรรูปจะค่อยๆ ขึ้นทุกปี แปลว่า เรามีศักยภาพสูงมากในการผลิตอาหารแปรรูป (processed food) นั่นหมายความว่า ไทยมีความสามารถในการจะขยายผลิตอาหาร processed food เพื่อส่งออก ไม่ใช่ขายผลผลิตการเกษตรเฉยๆ
ขณะเดียวกันนั้นอาหารไทยที่เรากินทุกวันนี้อย่างน้อย 30% ของวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ ซึ่งมาจาก อินเดีย จีน เมียนมา ซึ่งหมายความว่าหากจะทำ process food ในประเทศไทยเพื่อขายจะต้องนำเข้า และปกติเรานำเข้าอยู่แล้ว และเรามีศักยภาพในการผลิตอาหารแปรรูปสูงพันศักดิ์ เสนอแนวทางว่า ไทยกับสหรัฐควรเป็น Strategic Partner กันในเรื่องอาหาร ให้สหรัฐผลิตอาหารคุณภาพสูง แล้วส่งมาให้ไทย แล้วไทยก็นำมาผ่านกระบวนการแปรรูป โดยแปรรูปจากจากวัตถุดิบคุณภาพ แล้วส่งออกไปขายทั่วโลก
ที่สำคัญคือตอนนี้ไทยเริ่มเก่งในเรื่อง process food ระดับสูงอย่างเช่น organic food, healthy food, clean label ซึ่งจังหวะก็ดีด้วย เพราะรัฐบาลสหรัฐก็กำลังสนใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นนี่แหละคือจุดที่ควรคุยกัน คุยกันอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
ย้อนกลับไปถามคำถามเดิมว่า แล้วพื้นที่ของไทยอยู่ตรงไหน? ในเมื่อประเทศอื่นเขาแข่งกันผลิตของเหมือนกันหมด คำตอบผมคือ รสชาติ กับเนื้อสัมผัส (Taste & Texture) สองอย่างนี้แหละที่ copy ยากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นถ้าเราเก่งเรื่อง process food จริง ๆ ตรงนี้แหละคือพื้นที่ของไทย
สิ่งที่ไทยต้องทำต่อจากนี้ คือ ต้องทำ research ให้ชัดเจนว่าแหล่งวัตถุดิบพรีเมียมในเอเชียอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วแหล่งวัตถุดิบพรีเมียมในสหรัฐอยู่ตรงไหน เพื่อที่เราจะเอาของพวกนี้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม แล้วส่งออกต่ออีกที หรือแม้แต่เอามากินในประเทศเองก็ยังได้
คุณลองคิดดู เวลาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ อย่าคิดแค่ว่ายื่นหมูยื่นแมว เราไม่ใช่หมู ไม่ใช่แมว เราเหมือนจิ้งหรีดตัวเล็ก ๆ ตัวนึง จะไปยื่นหมูยื่นแมวกับเขามันเทียบกันไม่ติดหรอก
สิ่งที่เราต้องคิด คือ เรามีอะไรที่เขาอยากได้บ้าง เราเข้าใจประชาชนของเขา แต่เขาอาจยังทำอะไรเพื่อตอบสนองคนของเขาไม่ได้ เช่น ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาปีละประมาณ 39 ล้านคน ถามว่าลูกค้าที่จะซื้อของฝากจากอเมริกาในเมืองไทยคือใคร? ก็ 39 ล้านคนนี่แหละ สมมติว่ามีคนอเมริกัน 20 ล้านคนมาเที่ยวเมืองไทยทุกปี เราก็มีลูกค้า potential สำหรับของฝากจากอเมริกาอยู่แล้ว เหมือนเตรียมลูกค้าไว้ให้เขาเลย ไม่ต้องลำบากไปซื้อจากนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส ซื้อของฝากที่นี่ก็ได้ นี่แหละตลาดมหาศาลที่คนมองข้ามไป
ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมัยก่อนผมชอบเล่นกล้อง Leica ไปซื้อมือสองที่นิวยอร์กบ้าง แต่พอมีประสบการณ์มากขึ้น ก็รู้ว่า ถ้าจะซื้อ Leica มือสองจริง ๆ ต้องซื้อที่โตเกียว เพราะญี่ปุ่นเขาเลือกของให้คุณแล้ว ของดี ราคาชัด ไม่โกหก ถามว่ากรุงเทพฯ ทำอย่างนั้นได้ไหม? ถ้าเราขายของคุณภาพจริง ไม่โกหกผู้บริโภค เลือกของก่อนขายให้เขา เราก็เป็น Hub ของของขวัญได้เหมือนกัน หรือจะเป็นศูนย์รวมอาหารพรีเมียมระดับโลกก็ได้ โตเกียวทำได้ กรุงเทพฯ จะทำไม่ได้เหรอ? อย่างเนื้อออร์แกนิกจากอเมริกา คนไทยกินนิดเดียว แต่นักท่องเที่ยวต่างหากที่กิน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำอะไรให้เกิดขึ้น ต้องคิดไกลกว่าปลายจมูก
ขณะที่ประเด็นเรื่องสวมสิทธิ์ก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาสวมสิทธิ์ไทยไปขายจีน หรือจีนสวมสิทธิ์ไทยไปขายอเมริกา แบบนี้ไม่ได้ ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าบริษัทจีนมาผลิตในไทยอย่างถูกต้อง ได้ตรา Made in Thailand แล้วโดนหาว่าทำผิด เราก็ต้องออกมาปกป้องเขา แต่ไม่ใช่ไปเข้าข้างจีนหรืออเมริกา แบบนั้นไม่ฉลาด หรือบางทีเรื่องแอปเปิลไทยก็เก็บภาษีเวอร์เกินอย่าง 50% อะไรแบบนี้ ทั้งที่เขาเก็บผลไม้เราแค่ 2–3% ถ้ามันเกินไปก็ลดลงบ้าง
ส่วนเรื่องสงครามนิวเคลียร์กับจีน ผมไม่เชื่อนะว่าอเมริกาอยากรบกับจีน เพราะมันเสียทั้งเงิน เสียทั้งชีวิต มีคนทำวิจัยจากเพนตากอนออกมาบอกเลยว่าถ้ายิงกันจริง ๆ อเมริกาตาย 200 ล้าน จีนตาย 400 ล้าน แต่จีนยังเหลืออีกเป็นพันล้านคน แล้วแบบนี้จะรบไปทำไม จีนก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจะผลิตอะไรที่มัน sexy, unique จนคนอื่นอยากได้ สหรัฐก็ต้องคิดว่าจะผลิตอะไรจากภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของตัวเองให้มันมีเสน่ห์ แล้วเอามาแลกกัน ไม่ใช่ผลิตของแบบเดียวกันเป๊ะ ๆ อเมริกาทำ Tesla จีนก็ทำ BYD เทคโนโลยีเดียวกันหมด แบบนี้มันไม่มีใครอยากแลกกันหรอก สุดท้ายคุณก็ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ เพราะคุณฆ่ากันไม่ได้แล้วไง แล้วจะอยู่ร่วมกันยังไงล่ะ ผมไม่ได้ห้ามแข่งขันนะ จะเกลียดกันก็ได้ แต่ให้ความเกลียดมันกลายเป็นพลังสร้างสรรค์ เราต้องเป็นประเทศที่ส่งเสริมสันติภาพอย่างแข็งขัน และมั่งมีร่วมกัน ไม่ต้องเข้าข้างใคร แล้วรัฐบาลไทยเองก็พยายามจะเจรจากับทั้งสหรัฐฯ และจีนเหมือนกัน #พรรคเพื่อไทย #ภาษีทรัปม์


