‘สรวงศ์’ เคาะไทม์ไลน์สร้าง ‘กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’ มั่นใจเกิดประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คาดเปิดได้ปี 70

วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในโอกาสเป็นประธานเดินหน้าโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบหลักเรื่องการออกแบบและก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ว่า โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้แนวทาง “การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ที่เน้นการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพราะการเข้าถึงธรรมชาติ คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27

นอกจากนั้นการออกแบบกระเช้าไฟฟ้า ไม่ได้คำนึงเพียงแค่การ “อำนวยความสะดวก” หากแต่เป็น “เครื่องมือของการอนุรักษ์” ที่จะลดการเดินเท้าในเขตเปราะบาง ลดการพักแรมบนภู ลดขยะ ลดภาระของเจ้าหน้าที่ และลดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ เป็นการเข้าถึงโดยไม่สัมผัสโดยตรง อนุรักษ์ภูกระดึงด้วยเทคโนโลยีที่เคารพธรรมชาติ

โดยโครงการกระเช้าภูกระดึง ได้ดำเนินการศึกษา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยใช้งบศึกษา 25 ล้านบาท เริ่มศึกษาเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ ส่วนงบลงทุนก่อสร้างกระเช้า จะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เป็นกระเช้าไฟฟ้า 32 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ 8 คนต่อตู้  โดยจะใช้งบกลางในการลงทุน

นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของโครงการฯ คือ สิ่งแวดล้อมต้องมาก่อน โดยการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงนั้น มีพื้นที่โครงการส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โครงการนี้จึงต้องผ่านการจัดทำ EIA อย่างเข้มข้น และดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายหรือกฎระเบียบทุกประการ ครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อม กายภาพ สังคม สุขภาพ และชุมชน

พร้อมทั้งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม ออกแบบโดยไม่รบกวนธรรมชาติ โดยยึดแนวคิด Minimum Intervention กล่าวคือ สถานีและเส้นทางกระเช้าถูกเลือกให้กระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุดและเมื่อกระเช้าพร้อมใช้งาน แนวโน้มการพักแรมบนยอดภูจะลดลงซึ่งจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในระยะยาว รวมถึงปริมาณขยะตกค้างที่มีแนวโน้มลดลงด้วย

นายสรวงศ์กล่าวว่า กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จะช่วยกระจายรายได้จากยอดภูลงสู่ชุมชนตีนภู เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถขึ้นไปชื่นชมธรรมชาติบนยอดภู และลงมาตีนภูได้ในวันเดียวกัน จึงกลายเป็นโอกาสของชุมชนโดยรอบตีนภูในการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร หรือกิจกรรมท่องเที่ยวท้องถิ่น

โดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ยังมีแผนดูแลกลุ่มลูกหาบโดยจัดสรรพื้นที่พาณิชย์ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม นอกจากนั้นยังสามารถใช้กระเช้าไฟฟ้า เป็นเส้นทางช่วยชีวิตในยามฉุกเฉิน ทั้งนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ และแม้แต่สัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการพาผู้บาดเจ็บลงจากภู ลำเลียงอุปกรณ์ดับไฟป่า หรือช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บจากกับดัก โครงสร้างพื้นฐานนี้สามารถลดความสูญเสียได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ อพท.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนี้ไม่เพียงถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องมีความเข้าใจและความร่วมมือจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ในส่วนของแผนการออกแบบและก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ประธานกรรมการ อพท. และนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า มีขั้นตอนหลักด้วยกัน 8 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 6 เดือนโดยประมาณ นับจากเดือนพฤษภาคม 2568 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2570 ซึ่งขณะนี้ อพท. ได้วางกรอบการดำเนินงานไว้อย่างรอบคอบ ทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้กฎหมายและกลไกการกลั่นกรองที่ชัดเจน

โดยในระยะที่ 1 (ขั้นตอนที่ 1-3) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 10 เดือน (พฤษภาคม 2568 – มีนาคม 2569) จะเป็นส่วนของการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียด โดยศึกษาครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม กายภาพ สังคม สุขภาพ และวิถีชุมชน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเปิดกว้าง รวมถึงภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่

ระยะที่ 2 (ขั้นตอนที่ 4-6) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 5 เดือน (เมษายน – สิงหาคม 2569) เข้าสู่กระบวนการยื่นเสนอรายงาน EIA ซึ่งจะต้องทำการเสนอกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ล้วนประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นกลางอย่างสูงในการพิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมถึงขออนุญาตการก่อสร้างต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ระยะที่ 3 (ขั้นตอนที่ 7-8) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 15 เดือน (กันยายน 2569 – พฤศจิกายน 2570) เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโดยประมาณ 12 เดือน

“โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ไม่ใช่เพียงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้โอกาสกับผู้คน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นไปพร้อมกัน นี่ไม่ใช่โครงการของกระทรวงฯ หรือของรัฐบาลเท่านั้น แต่คือโครงการของสังคมไทยทั้งประเทศ ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ต่อธรรมชาติที่เราทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการดูแลและเข้าถึงได้ และใช้การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสรวงศ์กล่าวย้ำ

#พรรคเพื่อไทย #สรวงศ์  #กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง